ทำโทษสัตว์เลี้ยงด้วยการตี การดุ ได้ผลจริงหรือ?

#Q&A กับโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

.

หลายครั้งเมื่อสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักของเรากลายร่างเป็นเจ้าลิงแซนซน จนทำข้าวของเสียหาย หรือสร้างเรื่องลำบากให้เราต้องมานั่งเก็บกวาดน่าปวดหัว หากจะสอนด้วยการบอกกล่าว ก็ดูว่าเจ้าตัวยุ่งจะไม่เข้าใจ แล้วถ้าเลือกวิธีดุด่า หรือลงแรงทำโทษให้หลาบจำล่ะจะดีหรือไม่ เราควรลงโทษสัตว์เลี้ยงอย่างไรเมื่อทำผิด คุณหมอจากคลินิกพฤติกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

.

ปัจจุบันนี้ได้มีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า การลงโทษสัตว์เลี้ยงทางกายภาพนั้น ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมในสัตว์เลี้ยงได้ เพราะหากจะลงโทษให้ได้ผลนั้น ต้องอยู่ในเงื่อนไข คือ

.

    • สัตว์แต่ละตัวรับรู้แรงในการตี แล้วรู้ตัวว่าทำผิดไม่เท่ากัน ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า แรงเท่าใด
    • การตีต้องตีด้วยแรงที่เท่ากันทุกครั้ง
    • การตีต้องตีทุกครั้งที่สัตว์ทำผิด
    • การตีต้องตีภายใน 0.5 วินาที หลังสัตว์ทำผิด
    • มีความเสี่ยงที่สัตว์จะชินกับการตีด้วยแรงเท่าเดิม ทำให้ผู้ลงโทษต้องเพิ่มแรงในการตีขึ้นไปอีก

.

ด้วยตัวอย่างเงื่อนไขข้างต้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้การลงโทษทางร่างกายให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การลงโทษด้วยการด่าทอก็ไม่ได้ทำให้สัตว์เข้าใจได้ เพียงแต่ไปปลุกเร้าอารมณ์ของสัตว์ และเรารู้สึกว่าเราได้ระบายอารมณ์ไปแล้วเท่านั้น สุดท้ายแล้วถ้าเรายังใช้การลงโทษทางร่างกายหรือทางเสียงต่อไป สัตว์ที่อยู่กับเราก็อาจจะไม่มีความสุข และอยู่กับเราด้วยความกลัวมากกว่าความสัมพันธ์แบบสมาชิกในครอบครัว

.

หากสัตว์เลี้ยงมีปัญหาพฤติกรรม สามารถมาปรึกษากับสัตวแพทย์ได้ สัตว์แพทย์เฉพาะทางจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้สัตว์แสดงออกเช่นนั้น แล้วอธิบายเหตุผลให้เจ้าของสัตว์และคนในครอบครัว รวมทั้งแนะนำวิธีการแก้ไขและปรับปรุงที่เหมาะสมต่อกรณีนั้นๆ โดยที่ผลสำเร็จและการพัฒนามักจะขึ้นกับเจ้าของสัตว์และสมาชิกในบ้านว่าให้ความร่วมมือแค่ไหนด้วย

.

#สรุป ก็คือ การทำโทษด้วยการตี หรือการดุ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง มาส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก หรือป้องกันด้วยการฝึกฝนให้สัตว์เลี้ยงรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น พาไปเข้าร่วมชั้นเรียนลูกสุนัข (Puppy class) ที่มีมาตรฐาน และศึกษาเตรียมตัวหาข้อมูลเรื่องการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม ยังเป็นการช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาได้อีกด้วย

.

ถ้าใครต้องการปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่ คลินิกพฤติกรรมสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กันเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าใครมีปัญหาหัวใจ อันนี้ก็ตัวใครตัวมันนะ ฮิ้ววววว