ฝังเข็ม ทางเลือกใหม่ในการรักษาสัตว์เลี้ยง

นอกจากการรักษาสัตว์ในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าไม่ต่างจากในคนแล้ว แพทย์แผนทางเลือกก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาในสัตว์ที่มาแรงไม่แพ้กัน วันนี้มาทำความรู้จักกับการฝังเข็มในสัตว์เลี้ยง จากคลินิกฝังเข็ม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวให้เราได้รู้จักกับการฝังเข็มในสัตว์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาร์ทฮาร์ท โซเอทิส และ application สำหรับสัตว์เลี้ยง MUMU Petguide ในโครงการ Smart Vet Smart Society เพื่อส่งเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้ดีขึ้น ใครที่กำลังสนใจการรักษาทางเลือกใหม่ๆ ในกับสัตว์เลี้ยง มาติดตามต่อกันได้เลย

CU Acupuncture Clinic

  1. ฝังเข็ม คืออะไร
    ฝังเข็ม คือการนำเข็มไปฝังทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้มีการปรับสมดุลของร่างกายให้กลับมาเป็นปกติได้มากที่สุด
  2. ฝังเข็มในสัตว์ เหมือนฝังเข็มในคน หรือไม่
    ฝังเข็มในสัตว์ มีหลักการเดียวกันกับการฝังเข็มในคน ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดนในอดีตการฝังเข็มในสัตว์ก็นำการฝังเข็มของคนมาดัดแปลงให้เข้ากับโครงสร้างของร่างกายสัตว์ และได้มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบัน
  3. การฝังเข็มสัตว์ สัตว์จะเจ็บหรือไม่ในการฝังเข็ม เราจะใช้เข็มที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้อาจมีความเจ็บปวดบ้าง แต่น้อยกว่าการฉีดยาโดยทั่วไป ยกเว้นบางกรณี เช่น สัตว์มีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ในการทำฝังเข็มครั้งแรก อาจจะเจ็บได้ แต่หากมีการทำต่อเนื่องหลาย ๆ ครั้ง ก็จะทำให้ความเจ็บทุเลาลงได้
  4. การฝังเข็มในสัตว์ สามารถทำในสัตว์ชนิดไหนได้บ้าง
    การฝังเข็มในสัตว์สามารถทำได้ในสัตว์ทุกชนิด โดยที่เราต้องสามารถจับบังคับสัตว์เหล่านั้นได้ เช่น สุนัข แมว กระต่าย ฯลฯ หรือในสัตว์ป่า สัตวดุร้าย อาจจะต้องให้สัตวแพทย์เฉพาะทาง พิจารณาเป็นกรณีไป หรืออาจจะต้องให้ร่วมกับการวางยาสลบสัตว์ในการทำ
  5. การฝังเข็มในสัตว์ในเวลานานเท่าไหร่ ในการรักษาแต่ละครั้ง
    การฝังเข็มในสัตว์เลี้ยงจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทั้งการฝังเข็มธรรมดา และฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า
  6. การฝังเข็มธรรมดา และฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า ต่างกันอย่างไร
    การฝังเข็มธรรมดา จะเป็นการรักษาแบบดั้งเดิม คือการฝังเข็มลงไปตามจุดฝังเข็มต่าง ๆ บนร่างกาย อาจมีการกระตุ้นจุดโดยการหมุนเข็ม หรือวิธีต่าง ๆ โดยการการกระตุ้นไฟฟ้า ก็เป็นวิธีการกระตุ้นชนิดหนึ่ง ทำให้ได้ผลเร็วขึ้น หรือลดปวดได้ดีขึ้น แต่ในบางกรณีจะไม่สามารถกระตุ้นไฟฟ้าได้ เช่น สัตว์ป่วยเป็นโรคลมชัก
  7. การฝังเข็มในสัตว์มีความถี่ในการรักษานานเท่าไหร่
    ช่วงแรกจะทำการฝังเข็ม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยทำประมาณ 3-4 ครั้งก่อน หากอาการดีขึ้น อาจเว้นระยะเป็น 2-3 สัปดาห์ ต่อ 1 ครั้ง หรืออาจจะหยุดการฝังเข็มได้ ในบางกรณี
  8. ต้องมีการเตรียมตัวสัตว์อย่างไรบ้าง ก่อนการฝังเข็ม
    ไม่ต้องมีการเตรียมตัวพิเศษ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  9. การฝังเข็มในสัตว์ รักษาโรคอะไรได้บ้าง
    การฝังเข็ม สามารถช่วยรักษาได้หลายโรค เนื่องจากเป็นศาสตร์กาแพทย์แขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีน ซึ่งบางโรค อาจต้องทำการฝังเข็ม ร่วมกับการให้ยาสมุนไพรจีน จึงจะได้ผล แต่ในกรณีเฉพาะฝังเข็มอย่างเดียว จะเน้นรักษาโรคทางด้านระบบประสาท การปวดต่างๆ ซึ่งโรคเหล่านี้ใช้การฝังเข็มเพียงอย่างเดียวก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว
  10. เวลาทำการของคลินิกฝังเข็ม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การนัดทำฝังเข็มสามารถทำนัดเองได้หรือไม่
    เปิดทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00-15.00 น.
    หากเป็นสัตว์ป่วยของทางโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สามารถโทรนัดเอง หรือให้สัตวแพทย์เจ้าของไข้นัดให้ได้เลย ที่เบอร์โทร 088-499-3473 หรือ 02-218-9415
    หากยังไม่เคยมาที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ ให้นำใบส่งตัวมาพบสัตวแพทย์ที่แผนกอายุรกรรมเพื่อดูอาการเบื้องต้นให้ครบถ้วน และทำการนัดหมายให้อีกครั้งหนึ่ง